English Thailand

จินตนาการสยาม ร.ศ. 221 ชุด 2

Be the first to review this product

Availability: In stock

฿190.00

Quick Overview

รหัสสินค้า : OCM CD 192


Format : CD


Run time : 

จินตนาการสยาม ร.ศ. 221 ชุด 2

Double click on above image to view full picture

Zoom Out
Zoom In

More Views

Details

จินตนาการสยาม ร.ศ. 221 ชุด 2
แขกขาว
เป็นเพลงสำเนียงแขก (เปอร์เซีย) อัตรา 2 ชั้น ซึ่งครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร  ศิลปะบรรเลง) ได้ประพันธ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2464 โดยดัดแปลงจากเพลงสำเนียงมอญ 2 ชั้นเดิมคือ มอญรำดาบ  จุดประสงค์เพื่อใช้บรรเลงและขับร้องแทนเพลงจีนขิมเล็ก 2 ชั้นในตับนางลอย  บรรเลงครั้งแรกโดยวงปี่พาทย์วังสวนกุหลาบ  ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา และเมื่อพ.ศ.2478 ท่านก็ได้นำไปขยายและตัดลงจนครบเป็นเถาโดยสมบูรณ์  นับเป็นเพลงเอกของท่านอีก
เพลงหนึ่งที่ได้รับความนิยมนำมาขับร้องโดยบรรจุคำร้องเนื้อเต็มและบรรเลงเป็นลีลาร่วมสมัยหลายรูปแบบ  อาทิ  เพลงไทยสากลที่ชื่อ “อิเหนารำพึง”  ขับร้องโดย  คุณชรินทร์  นันทนาคร  เพลงลูกทุ่งยอดนิยมที่ชื่อ “นางฟ้าจำแลง”  ขับร้องโดยคุณสายัณห์  สัญญา
ลาวสวยรวย
เป็นหนึ่งในเพลงเกร็ดสำเนียงลาวที่เกิดขึ้นประมาณยุครัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นสมัยที่ศิลปะละคอนร้องและละคอนรำกำลังเฟื่องฟู  ประพันธ์โดย  หม่อมหลวงต่วนศรี  วรวรรณ มีท่วงทำนองหวานซาบซึ้ง สื่อถึงอารมณ์รักใคร่ได้ยอดเยี่ยมเพลงหนึ่ง  สำหรับฉบับของชุดจินตนาการสยาม  จะเป็นการโชว์ลีลาเดี่ยวอันโดดเด่นใสนอีกลักษณะของซอฝรั่งวิโอลอนเชลโลด้วยสุ้มเสียงทุ้ม นุ่มนวล และอ่อนหวาน สอดแทรกตามบรรยากาศของเพลง
ขอมทรงเครื่อง
เป็นเพลงอัตรา 2 ชั้นไม่ทราบนามผู้แต่ง  มีสำเนียงเขมรและลีลาท่วงทำนองที่สง่างาม  นิยมนำไปใช้ขับร้อง-บรรเลงประกอบการแสดง หรือในโอกาสอื่นๆ เหมาะสม  ภายหลังเมื่อประมาณ 20 กว่าปีก่อน คุณเนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์  กวีคนสำคัญร่วมสมัย  อดีตหนึ่งในสมาชิกวงดนตรีไทยการะเกด  ได้ประพันธ์คำร้องเป็นเพลงเพื่อชีวิตสำคัญเพลงหนึ่งแห่งยุคสมัย ชื่อว่า “คนทำทาง” นัยความหมายของเพลงมุ่งย้ำเตือนมิให้คนรุ่นหลังลืมเลือนคุณงามความดีของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งผู้ได้เสียสละสรรสร้างความศิวิไลต์แก่แผ่นดิน  ซึ่งหมายในเชิงอุปมาถึง วีรบุรุษนิรนามในประวัติศาสตร์  ผู้ซึ่งอุทิศตนสร้างบ้านแปลงเมืองให้เจริญรุ่งเรือง
แม่งู
เป็นเพลงเก่าสำเนียงลาวอัตรา 2 ชั้นไม่ทราบนามผู้ประพันธ์  เป็นที่รู้จักกันในอีกรูปแบบหนึ่งเมื่อถูกนำไปประกอบการรำชุดระบำแม่งูหรืองูกินหาง  ซึ่งบรรจุอยู่ในละครเรื่องอิเหนา  ตอนบุษบาไหว้พระปฏิมากร  ปะสันตาพวกพระพี่เลี้ยงของอิเหนาได้มาเล่นงูกินหางกัน  เนื้อร้องขึ้นต้นด้วย “แม่เอ๋ยแม่งู  เจ้าไปอยู่ที่ไหนมา  ฉันไปกินน้ำหนา  กลับมาเมื่อตะกี้.” พระนิพนธ์โดยสมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า  กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ระบำนี้เหมาะสำหรับนักเรียนฝึกหัดร้องรำแสดงในงานของโรงเรียนและงานทั่วไป  ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ.2466 ครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร  ศิลปะบรรเลง)  ได้นำเพลงนี้ไปขยายและตัดลงจนครบเป็นเพลงเถาให้ชื่อว่า “มังกรทอง” ซึ่งเป็นเพลงที่มีสำนวนไพเราะน่าฟัง  เปรียบเทียบลีลาใกล้เคียงกันกับเพลงไส้พระจันทร์เพลงเอกของท่านอีกเพลงหนึ่ง
อาเฮีย
เพลงในอัตรา 2 ชั้นเดิมมี 2 ท่อน (และมีสร้อยตอนท้าย) อายุของเพลงประมาณยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์  ไม่ทราบนามผู้ประพันธ์  เป็นเพลงอิงสำเนียงจีนในกลุ่มคล้ายคลึงกันกับเพลงสำเนียงจีนรุ่นเดิม  อาทิ  แป๊ะ  ชมสวนสวรรค์  อาหนูจีนขิมเล็ก-จีนขิมใหญ่ (ผลงานประพันธ์ของครูดนตรีไทยยุคนั้น)  ภายหลัง  ได้มีผู้นำประดิษฐ์ขึ้นเป็นเพลงเถาและเพลงเดี่ยวหลายทางด้วยกัน เช่น ทางของพระประดิษฐ์ไพเราะ (มี  ดุริยางกูร)  ทางของหลวงกัลยาณมิตตาวาส (ทับ  พาทยโกศล) ฯลฯ  ส่วนทำนอง 2 ชั้นเดิมนั้น  นิยมนำมาประกอบการร้อง-เล่นละครเช่นเดียวกัน  แต่เพื่อความเหมาะสมในการบรรเลงกรณีดังกล่าว  ท่านผู้รู้จึงนำทำนองเพลงมาใช้เฉพาะท่อน 1 พร้อมทั้งดัดแปลงให้เหลือเพียง 5 จังหวะจากเดิมซึ่งยาวถึง 9 จังหวะ แล้วนิยมเรียกกันต่อมาว่า เพลงอาเฮียตัด (เพลงที่กำเนิดในลักษณะแบบนี้มีหลายเพลง อาทิ วิลันดาโอดตัด  เจ้าเซ็นตัด (ฝรั่ง) จรกาตัด  ลาวแพนตัด ฯลฯ)ภายหลังก็มีผู้นำไปบรรจุคำร้องเป็นเพลงไทยลูกกรุงยอดนิยมเพลงหนึ่งชื่อ “ขอใจให้พี่” ขับร้องโดยคุณสุเทพ  วงศ์กำแหง
บันเทิงกาสร
เป็นเพลงประกอบระบำที่บรรจุอยู่ในโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพาลีสอนน้อง  ครูมนตรี  ตราโมท  ประพันธ์ขึ้นใหม่โดยยึดทำนอง 2 ชั้นเดิมจากเพลงเขมรไล่ควาย  จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับระบำสารพัดสัตว์ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยเดียวกัน คือ มฤคระเริง (กวาง)  บันเทิงกาสร (ควาย)  กุญชรเกษม (ช้าง) ฯลฯ  เพลงนี้ถึงแม้ลีลาที่แปลกใหม่และสนุกสนาน  แต่ก็จัดเป็นเพลงที่อาภัพ คือ ไม่ค่อยมีใครนิยมนำมาบรรเลงหรือรำสักเท่าไหร่  อาจด้วยเหตุเพราะเป็นเพลงที่เป็นตัวแทนของเจ้าทุย  สัตว์ที่หลายคนมองว่ามีฐานะต้อยต่ำนั่นเอง
เพลงเรื่องสีนวล
กระบวนการฝึกปรือ  ความจำ  ความคิด  และทักษะฝีมือของนักดนตรีไทยโดยเฉพาะสายปี่พาทย์ตั้งแต่โบราณนั้น  หลักหนึ่งคือ  การฝึกหัดเรียนเพลงประเภทเพลงเพลงเรื่องต่างๆ เพลงเรื่อง คือ เพลงที่ประกอบด้วยเพลงเกร็ดขนาดสั้นหรือขนาดยาวต่างๆ จำนวนหนึ่ง  ซึ่งครูบาอาจารย์ท่านได้คัดสรรโดยคำนึงถึง  ลีลา  หรือลักษณะของทำนองเพลงที่คล้ายคลึง  เพื่อมาบรรเลงติดต่อกัน  เปรียบเสมือนเป็น  นิยายเรื่องหนึ่ง  ที่มีการเริ่มต้น  แล้วดำเนินเนื้อหาไปจนกระทั่งจบเรื่องอย่างสมบูรณ์ จึงค่อนข้างเป็นเพลงขนาดยาว  เมื่อเปรียบเทียบกับเพลงประเภทอื่นๆ  ด้วยเหตุที่เพลงมีขนาดยาวและมีลีลาเนื้อทำนองหลักที่พิสดาร  หลากหลาย  จึงเหมาะสมที่นักดนตรีจะยึดเป็นแบบฝึกหัดเพื่อฝึกปรือการบรรเลง  การแปลทางสำหรับเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ รวมทั้ง การรวบรวมสมาธิ พละกำลังในกรณีที่ต้องบรรเลงเป็นระยะเวลานาน   เพลงเรื่องนั้นแบ่งได้หลายประเภท  ตามลักษณะของประโยคเพลงและเครื่องประกอบจังหวะหลักหรือหน้าทับที่กำกับ  สำหรับเพลงเรื่องสีนวล  ชื่อว่าสีนวล  เนื่องด้วยเพลงแรกของเพลงเรื่องนี้คือเพลง สีนวล (ใน) อันเป็นเพลงเก่าแก่แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาตามด้วยเพลงสีนวลนอก  คุดทะราดเหยียบกรวด  กินนรรำ  ขย้อนนางรำ  เพลงจีน 1  เพลงจีน 2  นาคราช  เหมราช  จัดประเภทเป็นเพลงเรื่องสองไม้  เนื่องด้วยทุกเพลงข้างต้นใช้หน้าทับ
สองไม้กำกับ  จากเจตนารมณ์ของจินตนาการสยาม  ที่ได้นำเพลงบทนี้มาเสนอในรูปแบบงานดนตรีเรียบเรียงแบบร่วมสมัย  ด้วยความหวังที่ว่าสามารถทำให้คุณค่าของบทเพลงเหล่านี้เปล่งประกายในมุมมองที่กว้างขึ้นไม่มากก็น้อย  และ  เพลงเรื่องสีนวลในแบบฉบับนี้เป็นทางที่สืบทอดจากครูพุ่ม  บาปุยวาทย์  ซึ่งคุณเสถียร  ดวงจันทร์ทิพย์  ได้กรุณาถ่ายทอดให้ไว้
เพลงเรื่องฉิ่งพระฉัน
เพลงเรื่องที่เรียกชื่อขึ้นต้นว่า เพลงฉิ่ง นั้นมีลักษณะพิเศษ คือ การประกอบจังหวะของเพลงที่มีฉิ่งเป็นเครื่องสำคัญ  และไม่มีเครื่องหนังมาประกอบ  นอกนั้นก็มีลักษณะรูปแบบตามองค์ประกอบของเพลงเรื่องทั่วไป คือ เพลงที่นำมาเข้าชุดจะมีท่วงทำนองลีลาที่คล้ายคลึงกัน  และมีการลดหลั่นอัตราช้าเร็วยาวสั้นของประโยคเพลงไปตามลำดับก่อนไปหลังเพลงเรื่องฉิ่งพระฉัน  เป็นเพลงเรื่องแบบฉบับอีกชุดหนึ่งที่ครูบาอาจารย์ได้ร้อยเรียงสืบมาแต่โบราณ  เนื่องด้วยการนิยมนำมาบรรเลงประกอบในงานพิธีมงคลในช่วงที่พระฉันภัตตาคาร  จึงมีชื่อเรียกว่า  ฉิ่งพระฉัน  จำแนกเป็น 2 เพลงด้วยกันคือ  ฉิ่งพระฉันเช้า และฉิ่งพระฉันเพล  สำหรับเพลงเรื่องฉิ่งพระฉันเช้าฉบับที่สมบูรณ์นั้น  มีเพลงที่เรียงกันตั้งแต่ต้นจนจบ  คือ
ภาคที่ 1 ชุดต้นเพลงฉิ่ง ประกอบด้วย ต้นเพลงฉิ่ง  สามเส้า  จระเข้ขวางคลอง  ถอยหลังเข้าคลอง  ตวงพระธาตุ
ภาคที่ 2 ชุดฉิ่งพระฉัน ประกอบด้วย ฉิ่งพระฉัน (4 ท่อน)
ภาคที่ 3 ชุดฉิ่งต่างๆ ประกอบด้วย ฉิ่งนอก (ฉิ่งชมสวน)  ฉิ่งกลาง  ฉิ่งใหญ่  ฉิ่งเล็ก  ฉิ่งสนาน
ภาคที่ 4 ชุดปลายเพลงฉิ่ง ประกอบด้วย ปลายเพลงฉิ่ง  กระบอก (บรรจุอยู่ในบางสำนวน)  รัวฉิ่ง
จึงถือว่าจบชุดโดยสมบูรณ์  หากแต่ในปัจจุบันโอกาสที่นักดนตรีจะบรรเลงตั้งแต่ต้นจนจบนั้นไม่ค่อยมี  เนื่องจากจะต้องใช้เวลาในการบรรเลงค่อนข้างมาก  เช่นเดียวกันกับโอกาสที่จะนำเสนอในอัลบั้มชุดนี้  ได้ตัดตอนชุดเพลงมาเรียบเรียงเฉพาะ  ภาคที่ 3 และ 4 เพื่อความเหมาะสม  สำหรับเสียง  ไวโอลิน  ออร์แกนชนิดต่างๆ และระนาดทุ้ม  ซึ่งมีบทบาทสำคัญในเพลงนี้  จะทำหน้าที่ถ่ายทอดคุณค่าความวิจิตรงดงามของบทเพลงไทยโบราณเพลงนี้ให้กระจ่างสู่จินตนาการของท่านผู้ฟัง
ศิลปิน : นิก กอไผ
ดูแลการผลิต / เรียบเรียง / บรรเลง  ซอด้วง ซออู้ ขลุ่ยเพียงออ ขิมสาย ขิมอลูมิเนียม ระนาดเอก
ระนาดทุ้ม คีย์บอร์ด กีตาร์โปร่ง กีตาร์ไฟฟ้า เครื่องประกอบจังหวะ
ชาญชัย  ศรีทองแจ้ง ควบคุมการบันทึกเสียง / ประสมเสียง / จัดทำต้นฉบับ
ปรีชา  ธรรมพิภพ  อำนวยการผลิต
นรอรรถ  จันทร์กล่ำ - ไวโอลิน  รับเชิญ “แขกขาว” “เพลงเรื่องฉิ่งพระฉัน”
อภิชัย  เลี่ยมทอง - วิโอลอนเชลโลรับเชิญ “ลาวสวยรวย”
เลอเกียรติ  มหาวินิจฉัยมนตรี - ซอสามสาย รับเชิญ “ขอมทรงเครื่อง”
{vmp3}{/vmp3}

Product Tags

Use spaces to separate tags. Use single quotes (') for phrases.