English Thailand

ประวัติศิลปิน

ประวัติครูไพบูลย์ บุตรขัน

March 12, 2014 8:59 am


ชื่อจริง ไพบูลย์ บุตรขัน

วัน เดือน ปีเกิด ๔ กันยายน ๒๔๖๑

ภูมิลำเนา หมู่บ้านท้องคุ้ง  ต. เชียงรากใหญ่  อ. สามโคก  จ. ปทุมธานี

ชื่อบิดา นายบุตร  ประณีต

ชื่อมารดา นางพร้อม  ประณีต

มีพี่น้อง ทั้งหมด ๓ คน เป็นชายทั้งหมด เป็นพี่คนโต นายเทอดและนายฉกาจเป็นน้องรองลงมา นายเจน เมื่อบิดาได้ถึงแกกรรม นายเจน ซึ่งเป็นอาได้รับเอาครอบครัวทั้งหมดมาอยู่ด้วยกันที่กรุงเทพฯ เขตปทุมวันตั้งแต่อายุประมาณ ๗-๘ ปี นายเจนผู้เป็นอาซึ่งรับราชการอยู่กรมรถไฟฟ้าได้ขอพระราชทานตั้งนามสกุลขึ้นใหม่โดยเอาชื่อของบิดา (ขัน) และชื่อของพี่ชาย (บุตร) มาตั้งเป็น "บุตรขัน" เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตระกูลสืบไปและได้ใช้นามสกุลบุตรขันตั้งแต่นั้นมา

จบการศึกษา            เริ่มต้นโรงเรียนปทุมวิลัย อยู่ที่วัดสำแล ต.บ้านกระแซง อ.เมือง จ.ปทุมธานี จบประถมศึกษาจากโรงเรียนสตรี ปทุมวัน พญาไท กรุงเทพฯ และจบมัธยมบริบูรณ์ (ม.๘) โรงเรียนสวัสดิ์อำนวยเวทย์ กรุงเทพฯ

งานและอาชีพ          เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว เป็นครูสอนภาษาไทยอยู่ที่ โรงเรียนกว๋องสิว กรุงเทพฯ จากนั้นไปทำงานที่โรงไฟฟ้าสามเสน และออกไปร่วมกับคณะละคร เดินทางไปตามจังหวัดต่างๆ ในฐานะผู้ประพันธ์เพลง และบทละครร่วมกับคณะ "แม่แก้วและคณะจันทโรภาส" ต่อมาก็ได้ประพันธ์บทละครวิทยุและบทภาพยนต์อิสระ

ครอบครัว ภรรยาชื่อ นางจันทิมา ไม่มีบุตรธิดา

สุขภาพ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๕ ต้นๆปี ได้เริ่มป่วยเป็นโรคร้าย และเก็บตัวรักษาอยู่ตลอดระยะเวลาสงคราม โดยหารายได้ด้วยการแต่งหนังสือนิทานสำหรับเด็กจำหน่าย  พ.ศ. ๒๔๙๐ ผลงานเพลงบันทึกเสียงเริ่มออกสู่ตลาด ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากครู สวัสดิภาพ บุนนาค ซึ่งเป็นเพื่อนกันมาแต่เดิม คอยให้การช่วยเหลือ จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ ผลงานประพันธ์ละครวิทยุ นาฏดนตรีก็เผยแพร่ออกทางวิทยุทั่วไป
คุณ "อุไรวรรณ วิวิธศิริ" เป็นผู้ให้กำลังใจอย่างมากได้นำเอาบทประพันธ์เพลงต่างๆ ออกอากาศและได้คอยเอาใจใส่เยี่ยมเยียนอยู่เสมอ
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ ด้วยความทรมาด้วยโรคร้ายอยู่อย่างหนักจนต้องบรรเทาด้วยยาเสพย์ติด แต่ยิ่งวันยิ่งทรุดหนัก เพื่อนฝูงก็ห่างหาย คุณ "บังเละ" (ดำริห์ วงศ์อาบู) ทราบข่าวก็ได้มาชักชวนพากันไปรักษาตัวที่ถ้ำกระบอก อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี  และด้วจิตใจที่เข้มแข็ง ด้วยการเอาใจใส่อย่างดีจากบรรดาญาติมิตร เขาก็หายกลับไปพักฟื้นอยู่ที่บ้าน จ.ปทุมธานี  และก็ได้กลับมาอยู่ที่บ้านปทุมวัน กรุงเทพฯ อีกครั้ง

หลังจากได้ทำการฌาปนกิจศพมารดาแล้ว ก็มุ่งหน้าแต่งเพลงบันทึกแผ่นเสียงเรื่อยมา มีรายได้เท่าใดก็เป็นค่ายา ค่ารักษาตัวไม่เหลือ เมื่อประมาณวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้ล้มเจ็บด้วยโรคลำไส้ อาเจียนเป็นโลหิต มีอาการหนักมาก และก็ด้วยความกรุณาจาก นายแพทย์ "ไกรสิงห์ ทองเปล่งศรี" ได้แนะนำเข้าโรงพยาบาลวชิระ จึงได้เข้ารักษาตัวอยู่ ๑๕ วัน จนหายเป็นปรกติ  หลังจากหายป่วยคราวนี้แล้วก็เริ่มโชคดีประดังกันเข้ามาทีเดียว แต่งเพลงออกมาแทบทุกเพลงเป็นที่นิยมกันมากซื่อเสียงโด่งดังขึ้นซึ่งเป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว จนกระทั่งได้ย้ายไปอยู่บ้านของตนเองที่ศักดิ์ชัยนิเวศน์ และได้ถึงแก่กรรมลงด้วยโรคลำไส้ซึ่งเคยเป็นมา

ผลงานด้านเพลง มนเมืองเหนือ ขับร้องโดย สมยศ ทัศนพันธ์ และ ทูล ทองใจ   ค่าน้ำนม สามหัวใจ แม่ศรีเรือน กลิ่นโคลนสาบควาย ขับร้องโดย ชาญ  เย็นแข   ชายสามโบสถ์ ตาสีกำสรวล ผู้แทนเมืองไทย ขับร้องโดย คำรณ สัมบุณณานนท์
โลกนี้คือละคร ลิเกชีวิต  ขับร้องโดย ปรีชา บุญยเกียรติ
มัศยาหลงเหยื่อ   ขับร้องโดย ลัดดา ศรีวรนันท์
ยมบาลเจ้าขา   ขับร้องโดย  บุปผา สายชล
ฝนเดือนหก   ขับร้องโดย   รุ่งเพชร  แหลมสิงห์
บุพเพสันนิวาส   ขับร้องโดย   ศรคีรี  ศรีประจวบ
แว่วเสียงซึง   ขับร้องโดย  เรียม  ดาราน้อย
มนต์รักลูกทุ่ง  เบ้าหลอมหัวใจ    ขับร้องโดย  ไพรวัลย์  ลูกเพชร  ฯลฯ

เกียรติยศ พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้รับรางวัลที่ ๑ การประกวดบทประพันธ์ นาฏดนตรี ของกรมโฆษณาการ เรื่อง "ตัวตายดีกว่าชาติตาย" ใช้นามปากกาว่า ตรีบูลย์ และถัดมาก็ได้รับรางวัลที่ ๒ ในการประกวดบทประพันธ์ นาฏดนตรี ครั้งที่ ๒ เรื่อง "น้ำพระทัยพ่อขุนรามคำแหง" วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ดังนี้
จากรางวัลเนื้อร้องชนะเลิศ เพลงไทยสากลประเภท ข. ในเพลง โลกนี้คือละคร เน้ืองร้องลูกทุ่งชนะเลิศประเภท ก. ในเพลง เบ้าหลอมดวงใจ ทำนองชนะเลิศในเพลง ฝนเดือนหก เนื้อร้องและทำนองชนะเลิศในเพลง "มนต์รักลูกทุ่ง" และเพลง ยมบาลเจ้าขา วันที่ ๑๒ กันยายน ๑๕๓๒ ได้รับรางวัลพระราชทานแต่งเพลงดีเด่นจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เนื่องในการจัดงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ ๑ ถึง ๑๐ รางวัลคือ

 

๑. เพลง ชายสามโบสถ์  คำรณ  สัมบุณณานนท์
๒. เพลง น้ำตาเทียน ทูล ทองใจ ขับร้อง
๓. เพลง บ้านไร่น่ารัก ชินกร ไกรลาส ขับร้อง
๔. เพลง เพชรร่วงในสลัม ชินกร ไกรลาส ขับร้อง
๕. เพลง ฝนซาฟ้าใส  ยุพิน แพรทอง  ขับร้อง
๖. เพลง ฝนเดือนหก รุ่งเพชร  แหลมสิงห์  ขับร้อง
๗. เพลง บุพเพสันนิวาส  ศรคีรี  ศรีประจวบ  ขับร้อง
๘. เพลง มนต์รักแม่กลอง ศรคีรี  ศรีประจวบ  ขับร้อง
๙. เพลง มนต์รักลูกทุ่ง ไพรวัลย์  ลูกแพร  ขับร้อง
๑๐. เพลง ยมบาลเจ้าขา บุปผา สายชล  ขับร้อง

ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้รับรางวัลพระราชทานแต่งเพลงดีเด่นจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเนื่องในการจัดงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ภาค ๒ ใน เพลง หนุ่มเรือนแพ ขับร้องโดย กาเหว่า เสียงทอง ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ เพลง มนต์รักลูกทุ่ง ได้รับรางวัล เพลงไทยลูกทุ่งยอดเยี่ยม ด้านทำนองและยอดเยี่ยมด้านคำร้อง ในงานพระพิฆเนศทองคำพระราชทาน ครั้งที่ ๑